เริ่มแล้วกับตลาดของดี 9 อย่าง ในงานสมัชชาเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง TKN Festival

วันที่สองของการเรียนรู้ (6 พ.ค. 67) ในงานสมัชชาเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง TKN Festival เทศกาลมีดี ครั้งที่ 4 เด็กเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง กว่าหนึ่งร้อยชีวิต ที่เดินทางมาอยู่ร่วมเพื่อเรียนรู้ตัวตน คุณค่า และศึกษาวัฒนธรรมของกันและกัน ได้กระจายตัวกันออกไปเรียนรู้ “ของดี” ที่มีมากถึง 9 อย่าง เช่น การเรียนรู้เรื่องชนเผ่าพื้นเมืองเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ, การสื่อศิลป์ ด้วยดนตรี, การละเล่นพื้นบ้าน, การเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็ก

วันนี้ แฟนเพจ TKN – เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ชวนดูว่า 9 ของดีที่คัดสรรมานั้น มีอะไรบ้าง (อ่านที่รูปได้เลย)

ฐานที่ 1: สภาชนเผ่าพื้นเมือง

วิทยากร : อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี ผู้อาวุโส สภาชนเผ่าพื้นเมือง และ ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

“พวกเราถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง เป็นคนชายขอบ จะชอบไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่เราอยู่กับปัญหามาช้านานตั้งแต่หลักคิดเชิงลบของรัฐราชการ ที่ห้ามพวกเรากำหนดตัวตนของตนเอง เพราะมองเป็นเรื่องแข็งข้อ ขัดขืน เห็นตัวตนเที่แตกต่างเหล่านั้นเป็นการแบ่งแยกดินแดน โดยมิสนเรื่องความหลากหลายของแบบแผนทางวัฒนธรรม แน่นอนว่าปัญหาที่ถูกพูดถึงเป็นเรื่องหลักคือ ที่อยู่อาศัยและสถานะบุคคล มีประชากรมากกว่า 9 แสนคนในประเทศไทย ที่รัฐประเมินว่ายังไม่มีสถานะ ยังไม่มีบัตรประชาชน สภาชนเผ่าฯ เราประมาณการกันว่า จากจำนวนทั้งหมดนั้นเป็นชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 2 แสนคน”

นั่นคือสรุปสาระสำคัญ ชองการมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ถูกกำหนดบทบาท หน้าที่ โดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งถิ่นอาศัย เพศ อายุอย่างชัดเจน เพื่อทำหน้าที่คุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูอัตลักษณ์ ภาษา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของเยาวชนดังที่เกิดขึ้นวันนี้ด้วย สภาชนเผ่าพื้นเมืองจึงเป็นของดีแรกที่เยาวชนมาร่วมเรียนรู้ในเทศกาลของดี

ฐานที่ 2: สิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อม

โดย: เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์เด็กและ CRYA เครือข่ายเยาวชนนักกิจกรรมเพื่อสิทธิเด็กล้านนา

จากสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหมอก ควัน ความร้อน ความผกผันของฤดูกาล ส่งผลกระทบให้การดำเนินชีวิตของเด็ก และเยาวชนทั่วโลกได้รับผลกระทบ และตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกับการมีส่วนร่วมนั้น เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องได้รับโอกาสและมีการเปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนในการแสดงความคิดเห็น

การระลึกรู้อยู่เสมอเรื่องสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กจะต้องพกสิ่งนี้ติดตัว และมีส่วนร่วมกับกิจกรรต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อชีวิตของเด็กทั้งในทางบวกและทางลบ ฐานนี้จึงส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านการต่อจิ๊กซอว์ยักษ์ว่าด้วยเรื่อง หลักการสำคัญและกลุ่มเนื้อหา ของอนุสัญญาสิทธิเด็ก ซึ่งนำโดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์เด็ก และสิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฐานที่ 3: ชนเผ่าพื้นเมืองกับความหลากหลายทางชีวภาพ

หนึ่งใน “ของดี” ที่มีในวันนี้ คือพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลทั้งกะทบและสนับสนุนวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งการอยู่อาศัย การทำมาหากิน และประเพณีสำคัญที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ซึ่งหนึ่งในวิทยากร คุณนิตยา เอียการนา กล่าวช่วงหนึ่งว่า

“การที่มีชนเผ่าพื้นเมืองกระจายตัวอาศัยอยู่มากกว่า 90 ประเทศ เป็นเจ้าของอัตลักษณ์เฉพาะตัวกว่า 5,000 ชนเผ่า คิดเป็น 5% ของโลก และจากการศึกษาของนักชีววิทยาพบว่าการอยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นหนึ่งปัจจัยดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ”

ฐานที่ 4: ความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่าพื้นเมือง

“ถ้าเป็นภูมิแพ้เราก็สามารถใช้รากของใบหญ้าหนาด หรือตาอึ๊ (เล็บมือลิง) ที่อยู่ตามหน้าผาบนพื้นที่สูงรักษาได้”

หนึ่งคำตอบจากข้อสงสัยที่ถูกสอบถาม จากฐานเรียนรู้เรื่อง ความมั่นคงทางอาหาร เด็กเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองได้ร่วมเรียนรู้ และทำความเข้าใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการเพาะปลูกพืชด้วยระบบหมุนเวียน โดยการปลูกพืชอาหารแบ่งตามระดับความสูงของพื้นที่ ซึ่งนอกจากคนจะใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในวงจรชีวิตของสัตว์ป่าด้วย นอกจากนั้นเด็กและเยาวชน ได้ร่วมเรียนรู้เรื่องการใช้อาหารเป็นยา การใช้สมุนไพรรรักษาโรค จากภูมิปัญญาของปกาเกอะญอ โดยมีคุณนันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำและแม่เฒ่าจากชุมชนร่วมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ฐานที่ 5: การละเล่นพื้นบ้าน

อะมู่ชือเบียะ (เกือกม้า) หรือไม้เหย่งขา ของชาวลีซูที่อำเภอปาย เป็นหนึ่งในการละเล่นที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ใช้เวลาทดลอง จนเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชื่อมสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้ระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองกับชาวโลก นอกจากนั้นยังมี นอกจากนั้นยังมีลูกสะบ้า ลูกข่าง และ อีกึกึ (แบ่งช่องหรือแบ่งช่วง) กีฬาไล่จับพื้นบ้านของลีซู ชายที่เรียกตัวเองว่า ลุงสว่าง วิทยากรประจำฐานกล่าวว่า

“กีฬาพื้นบ้านชนิดนี้นิยมเล่นช่วงเย็นต่อค่ำ เพื่อเป็นการออกกำลังกายและฝึกสติ เพราะกติการจะแบ่งกลุ่มคนเล่นเป็นสองกลุ่ม ส่วนการแพ้ชนะนั้นสามารถกำหนดได้จากการวางแผนเข้าเส้นชัย โดยคนเดียวที่เข้าเส้นชัยได้ก็สามารถทำให้ทีมชนะ”

ฐานที่ 6: สื่อศิลป์ ด้วยดนตรี

บนดอยที่มีความสูง 1400 เมตร จากน้ำทะเล มีอากาศถ่ายเทเย็นสบาย เป็นที่อาศัยของชนเผ่าลีซู อนุวิท และ จิระประภา อักษรอริยานนท์ วิทยากรกลุ่มสื่อศิลป์ ด้วยดนตรี จากศูนย์การเรียนรู้ศิลปะดนตรีวัฒนธรรมลีซู บอกเล่าวิถีชีวิตของพวกเขา กับการนำเสนอเครื่องดนตรีในวิถีชีวิต ให้กับเด็กเยาวชนที่มาร่วมเรียนรู้เรื่องดนตรีฟัง

“ตัวอย่างเช่น ซือบือ (เครื่องดนตรีชนิดสาย ใช้สีให้เกิดเสียงทำงานรูปแบบเดียวกับไวโอลิน ไม่รู้จักโน๊ต) ตัวหนังทำจากตะกวดป่าหรืองู ลำโพงและตัวเครื่องทำจากไม้ซ้อ ดนตรีของลีซู เอาไว้เล่นในงานขึ้นปีใหม่ ในงานสมรส งานมงคล รวมทั้งอวมงคล”

ดนตรีกับชาวลีซู เป็นของคู่กันเพราะไม่เพียงต้องรอวาระโอกาสต่าง ๆ แต่ลีซูมีเสียงดนตรีประกอบแทบทุกจังหวะของชีวิต นี่จึงเป็นหนึ่งในของดีที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีแบบแผน และต้องร่วมสืบสาน

ฐานที่ 7: วาดภาพฉันด้วยใจเธอ

กิจกรรมรูปแบบศิลปะที่กระตุ้นการสื่อสารภายในด้วยการวาดภาพระบายสี ให้สือถึงเรื่องราวของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง โดยใช้เครื่องมือแผนที่ชีวิต โดยมีแผนผังให้เห็นการตั้งถิ่นฐาน การงาน และวิถีของชนเผ่าฯ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของแต่ละภูมิภาค ที่แสดงให้เห็ฯว่าชนเผ่าพื้นเมืองไม่ได้เพียงแค่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงเท่านั้น ฐานนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นความหลากหลายของการมีชีวิต ที่พร้อมรับการพัฒนาและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงได้

ฐานที่ 8: ชนเผ่าพื้นเมืองเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ

วิทยากรโดย: คุณกัลยา แสงยาอรุณ จากสมาคม IMPECT

ในอดีต เพศเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ถูกกำหนดโดยกำเนิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แล้วอย่างยิ่งภายใต้วัฒนธรรม วิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง ล้วนยึดโยงและมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ผ่านความเป็นเพศมาเสมอ แต่ปัจจุบัน เพศภาวะ เพศวิถี และรสนิยมทางเพศเป็นสิ่งสามารถลื่นไหล เปลี่ยนแปลงไปตามรสนิยมแต่ละช่วงวัยได้ โดยไม่ได้มีเพียงหญิงหรือชาย การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าใจเพื่อนที่มีความแตกต่าง รวมทั้งดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมแบบไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่เพิ่มการแบ่งแยก

ซึ่งการเรียนรู้ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในด้านสิทธิเสรีภาพ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม กับการแสดงความคิดเห็นได้ โดยไม่ขึ้นกับเพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศ

ฐานที่ 9: ผ้ามัดย้อม

เพื่อให้เด็กเยาวชนได้เห็นว่า การผลิตสิ่งทอ หรือแฟชั่นที่เกิดในแต่ละวัน แต่ละภูมิภาคล้วนสามารถทำได้ด้วยมือและธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะการที่เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองอยู่อาศัยต่างสภาพพื้นที่ ย่อมมีความหลากหลาย การเรียนรู้ของดีเรื่องผ้ามัดย้อมจึงสาธิตการทำผ้าย้อมสีธรรรมชาติจากเปลือกขมิ้น สารภีป่า